ก่อนหน้า2/8ถัดไป
บทที่4 เรื่องพื้นฐานทางสรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม

ระบบกล้ามเนื้อ (Muscles or Muscular System)
ร่างกายของมนุษย์มีกล้ามเนื้อประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว ระบบกล้ามเนื้อมีส่วนสำคัญในการแสดงออกของพฤติกรรมการเคลื่อนไหว ซึ่งอวัยวะสามารถเคลื่อนไหวได้นั้นเป็นผลมาจากการหดและการคลายตัวของกล้ามเนื้อที่ติดอยู่กับกระดูก ส่วนอวัยวะภายในเช่น ลำไส้เล็กและกระเพาะอาหาร จะมีผนังเซลล์ซึ่งประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่บีบตัวเพื่อไล่อาหารไปตามส่วนต่าง ๆ ของช่องทางเดินอาหาร เนื่องจากระบบกล้ามเนื้อถือว่าเป็นระบบหลักที่สำคัญในการช่วยให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหว ดังนั้นความสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ (เช่น การอักเสบหรือฉีกขาด) ของกล้ามเนื้อ จึงส่งผลถึงการแสดงพฤติกรรมของบุคคลด้วย
กล้ามเนื้อนั้นประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อมากมาย ซึ่งเนื้อเยื่อดังกล่าวเหล่านั้นมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. ความสามารถในการรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก (Excitability)
2. ความสามารถในการหดตัว (Contractility)
3. ความสามารถในการถูกยืดโดยไม่เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อ (Extensibility)
4. ความสามารถในการกลับคืนสู่รูปร่างเดิมภายหลังจากการถูกยืดหรือหดตัว (Elasticity)
จากคุณสมบัติของเนื้อเยื่อที่อยู่ในกล้ามเนื้อต่าง ๆ ทั่วร่างกายนั้น ทำให้สามารถแบ่งกล้ามเนื้อของร่างกายได้ตามตำแหน่งที่อยู่ ลักษณะทางกายวิภาค และการควบคุมโดยระบบประสาทได้เป็น 3 ประเภท คือ
1. กล้ามเนื้อลาย (Skeletal Muscles or Striated Muscles or Striped Muscles)

เป็นกล้ามเนื้อที่ยึดอยู่ระหว่างกระดู 2 ชิ้น หรืออาจยึดระหว่างกระดูกกับผิวหนังหรือพังผืด (Deep Fascia) ก็ได้ มีลักษณะเป็นเส้นใยยาวคล้ายเส้นด้าย มีสีขาวสลับดำทอดตัวตามแนวขวาง มีลักษณะเป็นลาย ๆ และจะรวมตัวในลักษณะเป็นมัดวางเรียงขนานกัน ส่วนปลายของกล้ามเนื้อมักกลายสภาพเป็นเอ็นเพื่อนึดกระดูกแต่ละท่อนให้ติดกัน
กล้ามเนื้อลายจัดอยู่ในกล้ามเนื้อประเภทที่อยู่ภายใต้อำนาจจิตใจ (Voluntary Muscles) คือสมองสามารถสั่งการได้ กล้ามเนื้อชนิดนี้จะกระจายอยู่ทั่ว ๆ ร่างกาย แต่มักจะปรากฏอยู่บริเวณแขนและขาเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงมีความสำคัญต่อการเกิดพฤติกรรมภายนอกทั้งหลาย เช่น การเดิน วิ่ง นั่ง พูด ฯลฯ
2. กล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac Muscles)
กล้ามเนื้อหัวใจจัดเป็นกล้ามเนื้อพิเศษที่พบเฉพาะที่บริเวณหัวใจเท่านั้น โดยประกอบเป็นผนังหัวใจ ลักษณะของกล้ามเนื้อหัวใจจะมีลายน้อยกว่ากล้ามเนื้อลาย โดยลายแต่ละลายจะแตกแขนงออกไปเป็นกิ่งก้านสาขาคล้ายตาข่าย การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจจะถูกควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System) จึงจัดว่าเป็นกล้ามเนื้อที่อยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ (Involuntary Muscles) จะทำงานโดยการหดตัวเพียงอย่างเดียวเพื่อสูบฉีดโลหิต โดยหารหดตัวนั้นจะหดตัวเป็นจังหวะเดียวกันไปตลอดชีวิต ยกเว้นจะเกิดความผิดปกติขึ้นเท่านั้น
3. กล้ามเนื้อเรียบ (Smooth Muscles)

เป็นกล้ามเนื้อที่เป็นส่วนประกอบของอวัยวะภายใน

(Visceral Muscles) พบที่ผนังหลอดเลือด ท่อทางเดินอาหาร ท่อระบบปัสสาวะ และระบบสืบพันธุ์ กล้ามเนื้อเรียบจะประกอบไปด้วยเซลล์กล้ามเนื้อที่มีรูปร่างคล้ายกระสวยทอผ้า คือมีหัวและท้ายเรียวแหลม ส่วนตรงกลางนั้นมีลักษณะป่อง เป็นเส้นใยเล็ก ๆ ทอดตัวไปตามยาวประสานกัน เรียบแน่นสนิทจนดูเหมือนเนื้อเดียวกัน กล้ามเนื้อเรียบจะอยู่ภายใต้การควบคุมของประสาทอัตโนมัติเช่นเดียวกับกล้ามเนื้อหัวใจ พบได้ในอวัยวะภายในทั้งหลายของร่างกาย ยกเว้นที่หัวใจเท่านั้น
website templates.