บทที่12 เรื่องพฤติกรรมทางสังคม

ปัจจัยที่ทำให้มนุษย์ อยู่รวมกันในสังคม
มนุษย์นั้นไม่สามารถอยู่ตามลำพังได้ตลอดชีวิต เนื่องจากมนุษย์มีความต้องการในหลาย ๆ ด้าน และความต้องการดังกล่าวนั้นก็จะมีอยู่และพร้อมที่จะตอบสนองก็แต่ในสังคมเท่านั้น สำหรับความต้องการที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์อยู่รวมกันเป็นสังคม ได้แก่
1. ความต้องการทางกายภาพ
เป็นความต้องการพื้นฐานตามธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว เช่น ความหิว ความกระหาย ความต้องการทางเพศ เป็นต้น ความต้องการเหล่านี้สมาชิกในสังคมจะให้การตอบสนองกันและกันเป็นประจำ
2. ความต้องการทางจิตใจ
ความต้องการทางกายภาพนั้นมนุษย์สามารถตอบสนองได้เองโดยไม่ต้องพึงพาสมาชิกในสังคม เช่น เมื่อหิวก็สามารถเดินไปหาอาหารทานตามลำพังได้ แต่ความต้องการทางจิตใจนั้นเป็นความต้องการที่แสวงหาตลอดเวลา และต้องอยู่ในสังคมเท่านั้นจึงจะตอบสนองความต้องการนี้ได้ เช่น ต้องการความรัก ความอบอุ่น ความนับถือ และความเอาใจใส่ เป็นต้น
3. ความต้องการที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น
ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตทางวัฒนธรรมในสังคมมนุษย์ ด้วยเหตุที่ความต้องการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมจะเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อมนุษย์เกิดการสร้างสรรค์ภาษาเพื่อใช้ในการสื่อสารไม่ว่าจะเป็นการพูด การเขียน เพื่อการถ่ายทอดไปสู่ชนรุ่นหลัง
ความหมายของพฤติกรรมทางสังคม
พฤติกรรมทางสังคม หมายถึง พฤติกรรมของบุคคลที่แสดงต่อกันในสังคม โดยพฤติกรรมของบุคคลหนึ่งสามารถส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก รวมถึงพฤติกรรมของอีกบุคคลหนึ่งได้ เมื่อบุคคลนั้น ๆ เกิดการปฏิสัมพันธ์กันทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
นั่นคือ พฤติกรรมทางสังคมเป็นการศึกษาถึงอิทธิพลของบุคคลและสังคมที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมระหว่างบุคคลในสังคมเดียวกัน ดังนั้นพฤติกรรมทางสังคมจึงมีความหมายที่ครอบคลุมพฤติกรรมทุกด้านที่มนุษย์แสดงออกต่อสังคม
การรับรู้ทางสังคมที่มีต่อพฤติกรรมทางสังคม
การปฏิสัมพันธ์ของบุคคลนั้นจะมีการรับรู้ถึงพฤติกรรมและความรู้สึกนึกคิดของบุคคลหรือกลุ่มคนในสถานการณ์ต่าง ๆ เสมอ การรับรู้ดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยการตีความหมาย และผลจากการตีความนี้ก็จะมีอิทธิพลต่อการแสดงพฤติกรรมตอบสนองของแก่บุคคลแต่ละคนในสังคมด้วย ซึ่งการรับรู้ทางสังคมจำแนกได้ดังนี้
การรับรู้ระหว่างบุคคล (Person Perception)
การรับรู้ระหว่างบุคคล หมายถึง กระบวนการในการทำความเข้าใจบุคคลเมื่อเกิดการปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ โดยในครั้งแรกของการรับรู้นั้นจะเป็นไปในลักษณะกว้าง ๆ (Schemas) เช่น การแต่งกาย การพูดจา รสนิยม กิริยาท่าทางที่เด่น ๆ เป็นต้น เมื่อเกิดการรับรู้แล้วจึงมีการตัดสินว่าคน ๆ นี้เป็นคนอย่างไร แล้วทำ การจัดเก็บไว้ในระบบความทรงจำ ซึ่งจะมีผลต่อการแสดงพฤติกรรมต่อบุคคลนั้นในครั้งต่อไปโดยอาจจะเป็นทางด้านบวกหรือลบก็ได้
ทั้งนี้ ลักษณะกว้าง ๆ ที่บุคคลเกิดการรับรู้นั้นอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าหากมีการปฏิสัมพันธ์ที่บ่อยครั้งขึ้น ความชัดเจนของเหตุการณ์ใหม่ ๆ จะเข้าไปแทรกและเข้าไปแทนที่ลักษณะกว้าง ๆ เดิมที่เก็บไว้ครั้งแรก ซึ่งบ่อยครั้งมีความเป็นไปได้ว่าการรับรู้ในครั้งแรกที่เป็นลักษณะกว้างนั้นผิดพลาดไปจากความเป็นจริงอยู่มาก
สำหรับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้บุคคลอื่นนั้นมีข้อควรพิจารณา ดังนี้
- หากมีระดับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถูกรับรู้และผู้รับรู้ยาวนานมากเท่าใด การรับรู้ของบุคคลก็จะถูกต้องมากขึ้นเท่านั้น
- ประสบการณ์ในการพบปะผู้คนนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับความสามารถในการวิเคราะห์ผู้อื่นที่แตกต่างกันออกไป
- ถ้าบุคคลเป็นคนที่น่าสนใจและน่ารับรู้ ย่อมทำให้การจัดเก็บข้อมูลของบุคคลนั้นมีมากกว่าบุคคลที่ไม่น่าสนใจ
- หากบุคคลใดมีสถานภาพที่สังคมยอมรับมากเท่าใดก็จะมีแนวโน้มของการเกิดการรับรู้ไปในทิศทางที่มาดขึ้นตามไปด้วย
- การเปิดเผยตัวเองของบุคคลที่จะรับรู้ จะทำให้การรับรู้มีความชัดเจนและถูกต้องมากกว่าบุคคลที่พยายามปิดบังตนเองเอาไว้
- ความประทับใจครั้งแรก (First Impression) จะมีผลต่อการรับรู้ทั้งทางด้านบวกและลบได้อย่างมาก โดยหากเกิดความประทับใจครั้งแรกเป็นไปในทางบวก บุคคลก็จะมีการรับรู้ต่อภาพที่เห็นและมีแนวโน้มเอนเอียงเข้าข้าง ถึงแม้ว่าในภายหลังบุคคลนั้นจะแสดงพฤติกรรมทางด้านไม่ดีออกมาก็ตาม
บุคคลจะเกิดการรับรู้การกระทำของบุคคลหนึ่งที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม ๆ หนึ่ง ว่าบุคคลนั้นน่าจะมีคุณสมบัติและการกระทำที่คล้ายคลึงกับกลุ่มที่เป็นสมาชิกอยู่ รวมถึงจะมีพฤติกรรมเช่นนั้นไปด้วย ซึ่งเรียกการรับรู้เช่นนี้ว่า การเหมารวม (Stereotype) เช่น ผู้ชายจะเหมารวมว่าผู้หญิงทุกคนเจ้าอารมณ์ ขี้บ่น ใจน้อย ขับรถแย่ จุกจิก ส่วนผู้หญิงก็จะเหมารวมว่าผู้ชายทุกคนจะเป็นคนเจ้าชู้ ไม่รับผิดชอบ เที่ยวกลางคืน เป็นต้น

website templates.