ก่อนหน้า1/8ถัดไป
บทที่4 เรื่องพื้นฐานทางสรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม

โครงสร้างการทำงานและระบบต่างๆ ของร่างกาย
โครงสร้างการทำงานของร่างกาย
ร่างกายของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลกนั้นจะมีโครงสร้างทางร่างกาย ที่ประกอบจากหน่วยที่เล็กที่สุดจนไปถึงหน่วยที่ใหญ่ที่สุด ในแต่ละหน่วยนั้นจะมีการทำงานที่สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยไม่สามารถแยกการทำงานออกจากกันตามลำพังได้
ตัวอย่างเช่น โครงสร้างร่างกายของมนุษย์นั้นประกอบไปด้วยหน่วยที่เล็กที่สุดซึ่งไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าได้ที่เรียกว่า เซลล์ (Cell) หลาย ๆ เซลล์ที่ทำหน้าที่เดียวกันเมื่อมาอยู่รวมกันเรียกว่า เนื้อเยื่อ (Tissues) หลาย ๆ เนื้อเยื่อมาทำงานรวมกันเรียกว่า อวัยวะ (Organ) หลาย ๆ อวัยวะเมื่อมาทำงานร่วมกันเรียกว่า ระบบ (System) ดังแสดงในแผนผัง



ระบบต่างๆ ในร่างกาย
การดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตนั้นต้องอาศัยการทำงานที่สัมพันธ์กันของระบบต่างๆ ที่เป็นปกติ สำหรับระบบการทำงานของร่างกายมนุษย์นั้น สามารถจำแนกได้ 10 ระบบ ได้แก่
1. ระบบผิวหนัง (Integumentary System)   เป็นระบบที่ทำหน้าที่เป็นปราการด่านแรกของร่างกายจากเชื้อโรคต่าง ๆ อีกทั้งยังช่วยในด้านของการปรับอุณหภูมิของร่างกายตามสภาวะแวดล้อม ตลอดจนป้องกันการสูญเสียน้ำอีกด้วย
2. ระบบกล้ามเนื้อ (Muscularl System)   เป็นระบบที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย
3. ระบบโครงกระดูก (Skeletal System)  เป็นระบบที่ทำหน้าที่เป็นโครงร่างของร่างกาย และยังมีบทบาทในการทำงานร่วมกันกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหวของร่างกายด้วย
4. ระบบหมุนเวียนโลหิต (Circulatory System)   เป็นระบบที่ทำหน้าที่นำอาหารและออกซิเจนและฮอร์โมนต่าง ๆ เพื่อส่งไปยังอวัยวะอื่น ๆ ทั่วร่างกาย และยังเป็นระบบที่นำคาร์บอนไดออกไซด์กับของเสียที่เกิดจากเซลล์มาขับทิ้งด้วย
5. ระบบหายใจ (Respiratory System)   เป็นระบบที่ทำหน้าที่ในการรับออกซิเจนจากภายนอกเข้าสู่ร่างกายเพื่อกระบวนการทำงานของระบบอื่น ๆ และนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการในร่างกายขับทิ้งสู่ภายนอก
6. ระบบย่อยอาหาร (Digestive System)   เป็นระบบที่ทำหน้าที่ย่อยสลายอาหารให้เป็นสารอาหาร และทำการดูดซึมเพื่อส่งไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
7. ระบบขับถ่าย (Excretory System)   เป็นระบบที่ทำหน้าขับถ่ายของเสียที่ร่างกายไม่ต้องการแล้วออกไป
8. ระบบประสาท (Nervous System)   เป็นระบบที่ทำหน้าที่สนองตอบต่อสิ่งเร้าทั้งภายในและภายนอก ตลอดจนทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะทั้งหมดในร่างกายด้วย
9. ระบบสืบพันธุ์ (Reproductive System)   เป็นระบบที่ทำหน้าที่ในการสืบทอดและขยายเผ่าพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต เพื่อความต่อเนื่องของการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์
10. ระบบต่อมต่าง ๆ (Glands System)   ทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมน สารเคมี รวมถึงของเหลวต่าง ๆ ที่มีผลต่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
ระบบทั้ง 10 ระบบดังกล่าวข้างต้นนั้น กล่าวได้ว่าไม่มีระบบใดเลยที่สามารถจะดำเนินกระบวนการได้โดยลำพังหรือเป็นอิสระในการทำงาน แต่จะต้องอาศัยการดำเนินการซึ่งสัมพันธ์กับระบบอื่น ๆ ด้วย เช่น ระบบหายใจที่ต้องทำหน้าที่นำออกซิเจนเข้าไปสู่ร่างกายและนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาขับทิ้ง จึ้งต้องอาศัยระบบหมุนเวียนโลหิตในการนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และนำคาร์บอนไดออกไซด์จากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายออกมาขับทิ้งด้วย เป็นต้น ดังนั้นหากระบบต่าง ๆมีการทำงานที่สัมพันธ์กัน ร่างกายโดยทั่วไปก็จะดำรงในภาวะปกติ แต่ถ้าระบบใดระบบหนึ่งไม่สามารถทำงานสัมพันธ์กับระบบอื่น ๆ ได้ ร่างกายก็จะเกิดความผิดปกติขึ้นได้
ซึ่งระบบที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมต่าง ๆ โดยตรงนั้นมีอยู่ 3 ระบบ นั่นคือ
1. ระบบกล้ามเนื้อ
2. ระบบต่อมต่าง ๆ
3. ระบบประสาท

website templates.