ก่อนหน้า1/3ถัดไป
บทที่1 เรื่องความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจิตวิทยา

จิตวิทยา (Psychology)
คำว่า Psychology (จิตวิทยา)มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก ๒ คำ ได้แก่ Psyche (Mind = จิตใจ) และ Logos (Knowledge = ศาสตร์ องค์ความรู้)
ความหมายโดยรวมของ Psychology จึงหมายถึง ศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องพฤติกรรมของอินทรีย์ สิ่งมีชีวิตต่างๆ โดยเฉพาะมนุษย์เป็นสำคัญ เพื่ออธิบาย ทำความเข้าใจทำนาย และควบคุมพฤติกรรมนั้นๆได้
*สามารถติดตามตำนาน เทพนิยายของ Psyche หญิงสาวผู้ถูกนำชื่อมาใช้ในการอธิบายวิทยาการทางจิตวิทยาทั้งมวลได้ในส่วนของ Mythology ในโอกาสต่อไป

ประวัติความเป็นมาของจิตวิทยา
จิตวิทยาได้เริ่มขึ้นโดยนักปราชญ์ชาวกรีก ชื่อ เพลโต และอริสโตเติล เพลโตเชื่อว่าการคิดและการใช้เหตุผลเท่านั้น ที่ทำให้คนเกิดความเข้าใจในสิ่งที่เขาสามารถจะเข้าใจได้ โดยไม่สนใจวิธีการสังเกตหรือการทดลองใด ๆ แต่อริสโตเติลกลับเป็นนักสังเกตสิ่งรอบตัว เขาสนใจสิ่งภายนอกที่มองเห็นได้ การเข้าใจปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับคนต้องเริ่มด้วยการสังเกตอย่างมีระบบ
ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ศาสนาเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยแนวคิดทางศาสนาเน้นว่าจิตเป็นส่วนที่แยกออกจากร่างกาย
ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 การฟื้นฟูการสืบสวนโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการละทิ้งความเชื่อแบบเดิม ๆ มีการค้นหาความรู้ใหม่ ๆ วิธีการก็เริ่มมีลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ฟรานซิส เบคอน กล่าวว่า “ทฤษฎีให้แนวทาง การวิจัยให้คำตอบ” โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญระหว่างทฤษฎีและการวิจัย
กลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีกลุ่มแนวคิดที่สำคัญเกิดขึ้น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประจักษ์นิยมชาวบริเตน (British Empiricism) ที่เชื่อว่า ความรู้ผ่านเข้ามาทางสื่อกลางของความรู้สึก จิตเป็นที่รวมของความคิดเห็น นักจิตวิทยากลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญต่อการเกิดจิตวิทยากลุ่มสัมพันธนิยม (Associationistic Psychology) นักจิตวิทยาอีกกลุ่มหนึ่งกลับสนใจทางชีวภาพ เช่น ความแตกต่างระหว่างประสาทส่วนรับความรู้สึกกับประสาทส่วนการเคลื่อนไหว และ ลักษณะทางกายที่แสดงปฏิกิริยาสะท้อน (reflex) นักจิตวิทยากลุ่มนี้พยายามอธิบายการกระทำของมนุษย์ด้วยหลักการทางฟิสิกส์ คือ จิตฟิสิกส์ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้วัดความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางกายภาพของสิ่งเร้ากับประสบการณ์รู้สึกที่ผู้ที่ถูกเร้ารายงานออกมา

จุดมุ่งหมายของจิตวิทยา
จิตวิทยาเป็นวิชาที่จัดอยู่ในกลุ่มพฤติกรรมศาสตร์ โดยมีจุดมุ่งหมายดังต่อไปนี้
1. เพื่อให้ผู้ศึกษาเข้าใจพฤติกรรม (Understanding Behavior) ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมภายนอก กระบวนการทางจิต (Mental Process) ที่เกิดขึ้นภายใน อันจะทำให้สามารถเข้าใจตนเองและผู้อื่นได้อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น
2. เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถอธิบายพฤติกรรม (Explanation Behavior) ทั้งหลายที่เกิดขึ้นได้ พฤติกรรมทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นนั้นต่างมีเหตุจูงใจในการแสดงพฤติกรรมทั้งสิ้น ดังนั้นนักจิตวิทยาจะใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการค้นหาคำตอบ เพื่ออธิบายถึงปัจจัยที่เป็นสาเหตุสำคัญแห่งพฤติกรรมที่แสดงออกนั้น ๆ
3. เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถทำนายพฤติกรรม (Prediction Behavior) ซึ่งการทำนายนั้นหมายถึงการคาดคะเนผลที่ควรจะเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
4. เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถควบคุมพฤติกรรม (Control Behavior) ที่ไม่พึงประสงค์ให้ลดลงหรือหมดไป โดยในขณะเดียวกันนั้นก็จะต้องสามารถเสริมสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นใหม่ด้วย
5. เพื่อให้ผู้ศึกษานำความรู้ไปประยุกต์ใช้ (Application) ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเอง และ/หรือสังคมได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

ขอบข่ายของจิตวิทยา
ปัจจุบันนั้น จิตวิทยาได้แตกแขนงออกไปเป็นหลากหลายสาขา โดยจะเน้นศึกษาพฤติกรรมในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไป โดยขึ้นอยู่กับว่าจุดมุ่งหมายของแต่ละสาขานั้นเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งสามารถจำแนกขอบข่ายของจิตวิทยาได้ 2 ประเภท ได้แก่
1. ขอบข่ายพื้นฐาน (Basic Fields)
1) จิตวิทยาทั่วไป (General or Pure Psychology) เป็นจิตวิทยาที่มุ่งศึกษาถึงกฎเกณฑ์ ทฤษฎีพื้นฐานทางจิตวิทยา ซึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมโดยทั่ว ๆ ไปของมนุษย์ เป็นการปูพื้นฐานทางจิตวิทยา
2) จิตวิทยาการทดลอง (Experimental Psychology) เป็นการศึกษาถึงกระบวนการต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตในสภาพการณ์ด้านต่าง ๆ เช่น การเรียนรู้ การลืม การจำ โดยใช้วิธีการทดลองเป็นหลักสำคัญในการศึกษาค้นคว้า และนำผลที่ได้จากการทดลองไปสร้างเป็นทฤษฎีและเกณฑ์เพื่อประยุกต์ในวิชาการแขนงต่าง ๆ
3) จิตวิทยาเชิงสรีรวิทยา (Physiological Psychology) เป็นการศึกษาเกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ซึ่งเป็น องค์ประกอบพื้นฐานในการก่อเกิดการแสดงออกทางพฤติกรรม เน้นถึงโครงสร้างหน้าที่การทำงานของอวัยวะที่มีส่วนเกี่ยวพันกับการเกิดพฤติกรรมโดยเฉพาะ
4) จิตวิทยาสังคม (Social Psychology) มุ่งศึกษาเกี่ยวกับบทบาท ความสัมพันธ์ และพฤติกรรมการแสดงออกของบุคคลในสังคม โดยเน้นไปที่การสำรวจมติมหาชน ทัศนคติ ค่านิยม รวมไปถึงวัฒนธรรมของแต่ละสังคม เพื่อสรุปเป็นเกณฑ์สำหรับอธิบายพฤติกรรมของสังคมแต่ละสังคม
5) จิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology or Genetic Psychology) เป็นการศึกษาที่มุ่งเน้นถึงพัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ ตลอดจนอิทธิพลของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น อารมณ์ สติปัญญา เป็นต้น
2. ขอบข่ายประยุกต์ (Applied Fields)
1) จิตวิทยาการศึกษา (Educational Psychology) มุ่งศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์ทฤษฎีเพื่อใช้ในการศึกษา พัฒนาการเรียนการสอน เน้นให้เกิดความรู้อย่างแท้จริงตามปรัชญาทางการศึกษา
2) จิตวิทยาคลินิก (Clinical Psychology) มุ่งศึกษาเหตุแห่งความ ผิดปกติทางพฤติกรรม เพื่อหาแนวทางในการบำบัดรักษาในด้านต่าง ๆ เช่น อารมณ์ พฤติกรรม อาการป่วยทางจิตใจ ตลอดจนการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพจิตด้วย
3) จิตวิทยาการให้คำปรึกษา (Counseling Psychology) มุ่งศึกษาถึงเทคนิคและวิธีการต่าง ๆ เพื่อช่วยให้บุคคลที่ประสบปัญหาทางอารมณ์และจิตใจได้เข้าใจและเห็นแนวทางในการเลือกแก้ปัญหาด้วยตนเองได้
4) จิตวิทยาอุตสาหกรรม (Industrial Psychology) มุ่งศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการทำงานในงานประเภทอุตสาหกรรม ในแง่ของ ประสิทธิภาพในการทำงาน ผลของสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อคนงาน การสร้างขวัญและการจูงใจ
การคัดเลือกบุคคล ตลอดจนการประเมินการทำงานในสถานประกอบการทั้งหลาย เพื่อค้นหากระบวนการที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในงานอุตสาหกรรม
5) จิตวิทยาเปรียบเทียบ (Comparative Psychology) มุ่งศึกษาความเหมือนและแตกต่างของพฤติกรรมการแสดงออกของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย
นอกจากนี้ ในขอบข่ายของจิตวิทยาประยุกต์นั้นยังมีอีกมากมาย เช่น จิตวิทยา ชุมชน (Community Psychology) จิตวิทยาบุคลิกภาพ (Personality Psychology) จิตวิทยาบำบัด (Therapy Psychology) จิตวิทยาวิศวกรรม (Engineering Psychology) จิตวิทยาการกีฬา (Sport Psychology) เป็นต้น


website templates.