ก่อนหน้า2/3ถัดไป
บทที่1 เรื่องความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจิตวิทยา

ระเบียบวิธีการศึกษาทางจิตวิทยา

จิตวิทยานั้นได้รับการยอมรับว่าเป็นวิทยาศาสตร์ทางพฤติกรรมหรือที่เรียกกันว่า พฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งในทางวิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุผลที่จิตวิทยานั้นได้นำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อค้นคว้าหาคำตอบ
เกี่ยวกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหลาย ซึ่งวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่กล่าวมานั้น ประกอบไปด้วย 6 ขั้นตอน ได้แก่
1. ตั้งปัญหา (Formulating Problem)
เป็นขั้นตอนที่จะต้องกำหนดปัญหาที่จะศึกษาค้นคว้าอย่างชัดเจนว่าต้องการค้นคว้าศึกษาหาคำตอบในเรื่องใด นั่นคืออะไรที่ทำให้เราเกิดความสงสัยใคร่รู้นั่นเอง
2. ตั้งสมมติฐาน (Stating Hypothesis)
หลังจากที่ได้กำหนดปัญหาที่ชัดเจนแล้ว ผู้ศึกษาควรคาดคะเนผลที่ควรจะเกิดขึ้นล่วงหน้าว่าจะเป็นอย่างไร โดยอาจอาศัยทฤษฎีที่เกี่ยวข้องมาสนับสนุน แต่ไม่ใช่การเดาสุ่มอย่างไม่มีหลักเกณฑ์ การตั้งสมมติฐานเปรียบเสมือนกับแผนที่ในการเดินทางสู่เป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและใกล้เคียงกับสิ่งที่เป็นจริงมากยิ่งขึ้น
3. รวบรวมข้อมูล (Collecting Data)
ทั้งนี้ทฤษฎีบางอย่างอาจมีข้อจำกัดหรือเบี่ยงเบนตามสภาพแวดล้อมหรือสาเหตุที่ซ้อนเร้นที่ผู้ศึกษาไม่ทราบ ดังนั้นหลังจากการตั้งสมมติฐานแล้ว ผู้ศึกษาจะต้องทำการแสวงหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ มาเพื่อสนับสนุนสมมติฐานที่ตั้งไว้ อาจทำได้หลายวิธีเช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การใช้แบบทดสอบต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดขึ้นตอนนี้ถือว่ามีความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากผลวิเคราะห์ที่ออกมามีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้วิธีการในการเก็บรวบรวมข้อมูล

วิธีการรวบรวมข้อมูลที่นิยมใช้ในทางจิตวิทยานั้น สามารถจำแนกออกได้ ดังนี้
1) วิธีการสังเกต (Observation Method)
เป็นวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการเฝ้าดูพฤติกรรมของบุคคลในสถานการณ์จริงอย่างมีจุดมุ่งหมาย และทำการบันทึกพฤติกรรมที่แสดงออกมาอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีอคติ และอารมณ์ส่วนตัวโดยเด็ดขาด การสังเกตสามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
- การสังเกตอย่างมีแบบแผน (Formal Observation) นั่นคือ การสังเกตที่มีการเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้า มีการวางแผน กำหนดเวลา สถานการณ์ สถานที่ พฤติกรรม และบุคคลที่จะสังเกตไว้อย่างครบถ้วน
- การสังเกตอย่างไม่มีแบบแผน (Informal Observation) เป็นการสังเกตอย่างกระทันหันทันทีทันใด ไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตควรจะต้องมีจุดมุ่งหมายในการสังเกตด้วย
2) วิธีการทดลอง (Experimental Method) หมายถึง การจัดสร้างหรือเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ เพื่อสังเกตผลที่เกิดขึ้นจากการสร้างหรือเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ ซึ่งโดยมากแล้วจะกระทำกันในห้องปฏิบัติการ (Laboratory Experiment) โดยในการทดลองนี้มักจะแบ่งกลุ่มการทดลองออก
3) วิธีการสำรวจ (Survey) เป็นวิธีการอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เพราะเป็นวิธีการที่ใช้ช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่มากนัก แต่ทั้งนี้สิ่งที่ต้องคำนึงนั่นคือ หากกลุ่มประชากรมีจำนวนที่มากเกินการสำรวจได้อย่างทั่วถึง จะต้องมีวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง (Sample Group) จากกลุ่มประชากรเพื่อนำมาเป็นตัวแทนของประชากรทั้งหมด วิธีการในการสำรวจ อาทิ แบบสอบถาม สัมภาษณ์ เป็นต้น
4) การทดสอบ (Testing) เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้ในการศึกษาทางจิตวิทยา เนื่องจากการทดสอบจะใช้แบบทดสอบมาตรฐาน (Standardized test) ที่นักจิตวิทยาสร้างขึ้นเพื่อวัดหรือประเมินลักษณะทางพฤติกรรม
5) การสัมภาษณ์ (Interview) เป็นวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้การสนทนาระหว่างบุคคล เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ละเอียดและลึกมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้จะต้องมีการวางแผนล่วงหน้าอย่างดี โดยเฉพาะการสื่อความหมายที่ต้องเน้นให้เหมาะสม ในการสัมภาษณ์นั้นจะต้องใช้วิธีการสังเกตในการเก็บรวบรวมข้อมูล ทั้งนี้เพื่อดูพฤติกรรมระหว่างการสัมภาษณ์อีกด้วย
6) วิธีการทางคลินิก (Clinical Methods)เป็นเทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูลรายบุคคล (Individual Case) ซึ่งจะใช้เฉพาะบุคคลที่มีอาการทางจิตเท่านั้น
7) การสืบประวัติ (Case History) เป็นการรวบรวมข้อมูลเพื่อหาเหตุแห่งพฤติกรรมที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน โดยการศึกษาถึงประวัติย้อนหลังซึ่งอาจมาจากบันทึก คำบอกเล่าของผู้ถูกศึกษา ญาติพี่น้อง รวมทั้งบุคคลใกล้ชิด แต่ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในวิธีการนี้ จึงอาจต้องใช้วิธีการอื่น ๆ ประกอบร่วมด้วย
8) การตรวจสอบจิตตนเอง (Introspection Method) เป็นวิธีการรวบรวมข้อมูลโดยให้มีการสำรวจทบทวนตนเองในช่วงเวลาเกิดปัญหาที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ที่ถูกศึกษาอย่างจริงจังด้วย มิฉะนั้นข้อมูลที่ได้อาจเกิดการคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้มาก
4. การวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis and Testing Data)
เมื่อรวบรวมข้อมูลได้มากพอที่จะสนับสนุนสมติฐานแล้ว จึงนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อทำการทดสอบสมมติฐานดังกล่าว ทั้งนี้การวิเคราะห์ข้อมูลอาจทำได้โดยการหาค่าทางสถิติต่าง ๆ แล้วจึงนำค่าเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกับสมมติฐานที่กำหนดไว้ แล้วจึงแปลความจากค่าสถิติดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง
5. ประเมินผลและสรุป (Conclusion)
หลังจากทำการวิเคราะห์ข้อมูลเสร็จสิ้น ควรมีการสรุปผลเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ
6. การนำไปใช้ (Applied Finding)
เป็นการนำผลที่ได้จากขั้นตอนที่ 5 ไปใช้อธิบายพฤติกรรมหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโอกาสต่อไป

website templates.