ก่อนหน้า3/3ถัดไป
บทที่1 เรื่องความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจิตวิทยา

แนวความคิดของนักจิตวิทยาในกลุ่มต่าง ๆ
แนวความคิดแรกเริ่มของผู้ศึกษาจิตวิทยานั้นเริ่มมาจากแนวความคิดทางปรัชญาเป็นแกน แต่ต่อมาเมื่อระยะผ่านไปจนถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จิตวิทยาได้มีการเปลี่ยนแนวทางการศึกษามาเป็นการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น จึงทำให้วิชาจิตวิทยานั้นมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดแนวความคิดทางจิตวิทยาที่หลากหลายต่าง ๆ กันออกไป ซึ่งในแต่ละกลุ่มนั้นมีแนวความคิดที่มีแตกต่างกันในประเด็นหลัก 3 ประเด็น คือ
1. สิ่งที่สนใจศึกษาหรือจุดมุ่งหมายในการศึกษาค้นคว้าแตกต่างกัน เนื่องจากความเชื่อและความเข้าใจของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน
2. วิธีการในการศึกษาค้นคว้าแตกต่างกัน
3. ยึดทฤษฎีหรือหลักเกณฑ์ในการอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์แตกต่างกัน
ด้วยเหตุแห่งความต่างทั้ง 3 ประเด็นหลักนี้เองจึงทำให้สามารถแบ่งกลุ่มแนวความคิดทางจิตวิทยาได้ ดังนี้
1. กลุ่มโครงสร้างของจิต (Structuralism) หรือกลุ่มโครงสร้างนิยม จิตวิทยาในกลุ่มนี้นับว่าเป็นกลุ่มบุกเบิกวงการจิตวิทยาให้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์ ผู้ก่อตั้งคือ
วิลเฮล์ม แมกซ์ วุนต์ (Wilhelm Max Wundt) ผู้ก่อตั้งกลุ่มโครงสร้างนิยม โดยการศึกษาส่วนใหญ่จะเน้นไปทางด้านจักษุสัมผัส (Vision) ปฏิกิริยาตอบสนอง (Reaction time) ต่อสิ่งเร้า
ความสนใจและความจำ เป็นต้น
2. กลุ่มหน้าที่ของจิต (Functionalism)
ผู้นำของกลุ่มนี้คือ จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) และวิลเลียม เจมส์ (William James) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1900 ซึ่งนักจิตวิทยากลุ่มนี้ให้ความสนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมภายในเช่นเดียวกับกลุ่มโครงสร้างของจิต แต่ต่างกันตรงที่นักจิตวิทยากลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับหน้าที่ของจิตและกระบวนการที่ส่งผลต่อการแสดงออกของบุคคล
3. กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism)
กลุ่มของแนวความคิดนี้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางและมีบทบาทสำคัยอย่างมากต่อวงการจิตวิทยาในสหรัฐอเมริกา ผู้นำในกลุ่มแนวคิดนี้คือ จอห์น บี . วัตสัน (John B. Watson) ซึ่งเป็นศิษย์ของวิลเลียม เจมส์ มาก่อน แต่มีแนวคิดที่แตกต่างจากเจมส์ในเรื่องของวิธีการศึกษาพฤติกรรมซึ่งใช้การตรวจสอบจิตตนเอง เนื่องจากมีความเโน้มเอียงที่จะแทรกความรู้สึกส่วนตัวและมีอคติเอนเอียงไปทางหนึ่งทางใดได้ง่านตามความรู้สึกของผู้ถูกศึกษา (Subjective)
4. กลุ่มจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis)
เป็นอีกกลุ่มจิตวิทยาที่มีบทบาทและความสำคัญต่อวงการจิตวิทยา ผู้ก่อตั้งกลุ่มนี้ คือ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) โดยทั้งนี้ทฤษฎีที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะได้มาจากประสบการณ์ในการรักษาคนไข้โรคจิตในคลีนิกของเขานั่นเอง
ความคิดหลักของฟรอยด์นั้นเชื่อว่า จิตมีลักษณะเป็นพลังงานที่เรียกว่า พลังงานจิต (Psychic Energy) ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดและคงที่ ไม่มีทางทำลายหรือสร้างขึ้นมาได้ใหม่ แต่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ฟรอยด์ได้วิเคราะห์จิตของมนุษย์ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
1) จิตสำนึก (Conscious) เป็นจิตที่มีสติตลอดเวลา แสดงออกไปอย่างรู้ตัวตามเหตุผลและเป็นที่ยอมรับในสังคม
2) จิตกึ่งสำนึก (Pre-conscious or Subconscious) เป็นจิตที่ยังอยู่ในระดับที่รู้ตัวเช่นกัน เพียงแต่
ถูกควบคุมไม่ให้แสดงพฤติกรรมออกมา แต่ก็สามารถแสดงออกได้ เพียงแต่บางพฤติกรรมสังคมอาจไม่ยอมรับ
3) จิตใต้สำนึก (Unconscious) จิตระดับเป็นที่สะสมสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์ไว้มากมาย แต่ถูกกระบวนการทางจิตเก็บกดไว้ในจิตส่วนลึก ซึ่งถ้ามองเผิน ๆ อาจเหมือนกับสิ่งที่ถูกลืมไปแล้ว แต่แท้จริงยังคงอยู่ในรูปของตะกอนจิตใจ ซึ่งสามารถจะฟุ้งขึ้นมาเมื่อขาดการควบคุม โดยอาจเผยในรูปของความฝัน การละเมอ หรือเผลอพูดออกมาโดยไม่ตั้งใจ <br>
ตามทฤษฎีของฟรอยด์ เชื่อว่าพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่แสดงออกมานั้นสืบเนื่องมาจากการทำงานของพลังงานทางจิต 3 ส่วน ได้แก่
1) อิด (Id) คือ ส่วนของความอยาก ความต้องการ จัดว่าเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ที่ติดตัวมาแต่เกิด เป็นพลังงานที่ผลักดันให้เกิดการตอบสนองความต้องการโดยไม่คำนึงถึงเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น จัดอยู่ในส่วนของจิตใต้สำนึก
2) อีโก้ (Ego) เป็นพลังงานส่วนประนีประนอมระหว่างอิด (Id) กับ ซูเปอร์อีโก้ (Super Ego) เพื่อให้มีการแสดงพฤติกรรมที่ต้องการให้ตอบสนองออกมาตามสภาพที่สังคมยอมรับได้ หรือเหมาะสมกับสภาพสังคมนั้น ๆ ตามหลักแห่งความเป็นจริง (Reality Principle) เท่ากับว่าอีโก้เป็นตัวบริหารจิตให้เกิดความสมดุล คล้ายกับกรรมการห้ามทัพระหว่างอิดกับซูเปอร์อีโก้ ซึ่ง อีโก้นั้นจะอยู่ในส่วนของจิตสำนึกที่รู้ตัวตลอดเวลา
3) ซูเปอร์อีโก้ (Super Ego) เป็นพลังงานทางจิตซึ่งก่อตัวขึ้นมาจากการเรียนรู้ระเบียบ กติกา กฎเกณฑ์ ศีลธรรมของสังคม เป็นส่วนของคุณธรรมในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูและการขัดเกลาจากสังคมในระดับต่าง ๆ ที่บุคคลนั้นเติบโตมา เปรียบเสมือนเป็นสิ่งที่ทำตามหลักอุดมคติ (Ideal Principle)ที่พึงปรารถนาของสังคม
โดยทั่วไปแล้วในแต่ละสถานการณ์ พลังงานทั้งสามจะเกิดความขัดแย้งกันอยู่เสมอ
5. กลุ่มจิตวิทยาเกสตัลต์ (Gestalt Psychology)
เป็นกลุ่มจิตวิทยาที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในเรื่องของวงการจิตวิทยาการศึกษา กลุ่มเกสตัลต์ได้ก่อตั้งขึ้นที่ประเทศเยอรมนีราวปี ค . ศ . 1912 ซึ่งใกล้เคียงกับการกำเนิดของกลุ่มพฤติกรรมนิยม นักจิตวิทยากลุ่มนี้ประกอบไปด้วยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน โดยการนำของ แมกซ์ เวอร์ไธเมอร์ (Max Wertheimer)
ทฤษฎีของกลุ่มเกสตัลต์ให้ความสำคัญกับปัจจัย 2 ประการ ได้แก่ การรับรู้และการหยั่งเห็น
1) การรับรู้ (Perception) เป็นการแปลผลโดยอาศัยประสบการณ์เดิมที่แต่ละบุคคลได้ประสบมาช่วยในการแปลความหมายที่เกิดจากการรับสัมผัสนั้น ๆ เหตุนี้เอง จึงเป็นผลให้สิ่งเร้าหนึ่งสิ่งสามารถทำให้เกิดการรับรู้ที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลผู้นั้นมีประสบการณ์อย่างไร
2) การหยั่งเห็น (Insight) โดยทั่วไปเมื่อบุคคลเกิดปัญหาและสามารถแก้ไขได้โดยลุล่วงแล้ว ก็จะมีแนวโน้มที่บุคคลนั้นจะใช้วิธีการแก้ปัญหาเดิมมาใช้แก้ปัญหาที่คล้ายคลึงกันอีก แต่ในกรณีที่เป็นปัญหาใหม่ แล้วสามารถค้นพบวิธีแก้ไขปัญหาอย่างฉับพลัน ลักษณะเช่นนี้เราเรียกว่า การหยั่งเห็น ซึ่งจะต้องใช้ประสบการณ์สั่งสมไว้มากพอสมควร จนสามารถประยุกต์ใช้วิธีการแก้ปัญหาที่ผ่าน ๆ มาเพื่อแก้ปัญหาใหม่ได้
6. กลุ่มมนุษยนิยม (Humanism)
เป็นกลุ่มที่ได้รับการยิมรับอีกกลุ่มหนึ่งในวงการศึกษาและการให้คำปรึกษา นักจิตวิทยาในกลุ่มนี้ที่สำคัญ ได้แก่ อัมบราฮัม เอช. มาสโลว์ (Abraham H. Maslow) คาร์ล อาร์. โรเจอร์ (Carl R. Rogers) และอาร์เธอร์ โคมบ์ (Arther Combs)
ซึ่งแนวคิดพื้นฐานเน้นในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ดังนี้
1) มนุษย์เป็นสิ่งที่มีชีวิตจิตใจ มีความต้องการ และความสามารถที่แตกต่างกัน ไม่สามารถที่จะกำหนดให้เป็นอะไรก็ได้ตามใจของบุคคลอื่นปรารถนา ซึ่งมีความแตกต่างจากความคิดเห็นของกลุ่มพฤติกรรมนิยม
2) มนุษย์ต่างพยายามที่จะค้นหาตนเองและทำความเข้าใจตนเอง (Self Actualization) รวมทั้งยอมรับในศักยภาพของตนเอง
3) มนุษย์จะเกิดการพัฒนาถึงขั้นสูงสุดของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ต่อเมื่อสามารถเข้าใจตนเองและยอมรับผู้อื่นได้
4) มนุษย์แต่ละคนควรมีโอกาสในการเลือกกระทำสิ่งที่ตนต้องการ และมีสิทธิแสวงหาประสบการณ์ตามความต้องการของตนเอง เพราะมนุษย์มีความต้องการพัฒนาตนเองอยู่แล้ว และสามารถตัดสินใจที่ตะเลือกทางสำหรับการแก้ปัญหาให้กับตนเองได้ รวมถึงพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตนเองด้วย
5) ความสำคัญของวิธีการแสวงหาความรู้ ข้อเท็จจริง และประสบการณ์ต่าง ๆ มีน้ำหนักมากกว่าตัวความรู้และข้อเท็จจริง เนื่องจากสิ่งเหล่านั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

 

website templates.