ก่อนหน้า 1/8 ถัดไป
บทที่3 เรื่องพัฒนาการของมนุษย์

ความหมายของพัฒนาการ
พัฒนาการ (Development) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านโครงร่าง (Structure) และแบบแผน (Pattern) ของร่างกายทุกส่วนอย่างมีขั้นตอนและเป็นระเบียบแบบแผน นับแต่เริ่มปฏิสนธิจนกระทั่งเสียชีวิต ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิง คุณภาพ (Quality) เพื่อให้บุคคลนั้นพร้อมจะแสดงความสามารถในการกระทำกิจกรรมใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับวัย
ในการที่พัฒนาการของคนจะสมบูรณ์ได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของบุคคล 3 ประการ ได้แก่
1. การเจริญเติบโต (Growth)
การเจริญเติบโต หมายถึง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางร่างกายที่มีความเกี่ยวข้องกับ ขนาด น้ำหนัก ส่วนสูง กระดูก กล้ามเนื้อ รูปร่าง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงของปริมาณ เช่น ส่วนสูงที่เพิ่มขึ้น การปรากฏสัดส่วนวัยสาวของเด็กหญิง เป็นต้น
2. วุฒิภาวะ (Maturation)
วุฒิภาวะ หมายถึง การเจริญเติบโตของโครงสร้างทางร่างกายอย่างเป็นลำดับขั้นตามธรรมชาติจนถึงจุดสูงสุด มีผลให้เกิดความพร้อมที่จะประกอบกิจกรรมได้เหมาะสมกับวัย เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ใช่การเรียนรู้หรือประสบการณ์
3. การเรียนรู้ (Learning)
การเรียนรู้ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างค่อนข้างถาวร อันเนื่องมาจากการฝึกฝน ฝึกหัด หรือประสบการณ์เดิมที่มีอยู่ พฤติกรรมนั้น ๆ จะมีความเชี่ยวชาญชำนาญมากขึ้นเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนหรือประสบการณ์ที่ผ่านมา นั่นคือ การเรียนรู้มีความสัมพันธ์ไปพร้อมกับการเจริญเติบโตและวุฒิภาวะของบุคคล

หลักของพัฒนาการ Principle of Development  

อาร์โนลด์ จีเซลล์ ได้สรุปหลักของพัฒนาการของมนุษย์ ได้ดังนี้
1. พัฒนาการของมนุษย์มีทิศทาง (Principle of Directions)
ธรรมชาติได้กำหนดทิศทางของพัฒนาการของมนุษย์ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ทิศทาง ได้แก่
1) ทิศทางจากส่วนบนลงสู่ส่วนกลาง (Cephalocaudal Law) เป็นการพัฒนาในแนวดิ่ง โดยยึดศีรษะเป็นอวัยวะหลัก คือ อวัยวะใดที่อยู่ใกล้ศีรษะมากที่สุด บุคคลก็จะสามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะส่วนนั้นได้ก่อนอวัยวะอื่น ๆ ดังนั้นเด็กจึงขยับศีรษะได้ก่อนส่วนอื่นๆ
2) ทิศทางจากส่วนใกล้ไปสู่ส่วนไกล (Proximodistal Law) เป็นการพัฒนาในแนวขวาง โดยยึดลำตัวเป็นอวัยวะหลัก คืออวัยวะใดก็ตามที่อยู่ใกล้ร่างกายมากที่สุดจะสามารถควบคุมได้ก่อนส่วนอื่น ๆ ดังนั้นเด็กจึงขยับร่างกายได้ก่อนส่วนอื่น ๆ
2. พัฒนาการของมนุษย์มีลักษณะต่อเนื่อง (Principle of Continuity)
พัฒนาการใดด้านใดก็ตามต้องอาศัยระยะเวลาและความต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่เกิดได้โดยฉับพลันทันทีทันใด โดยเริ่มพัฒนาการตั้งแต่วัยเด็ก และพัฒนาการถึงขีดสุดในวัยผู้ใหญ่ และเสื่อมลงเมื่อถึงวัยชราตามลำดับ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องตามลำดับ และนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ร่างกาย
3. พัฒนาการของมนุษย์เป็นไปตามลำดับขั้น (Principle of Developmental Sequence)
พัฒนาการของสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายต่างก็มีแบบแผนเฉพาะของตน เมื่อพัฒนาการมีลักษณะต่อเนื่อง ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะข้ามขั้นได้ และเป็นไปตามลำดับขั้นตอนตามธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น เด็กจะเริ่มพัฒนาการจากหงาย คล่ำ คืบ คลาน นั่ง ยืน เดิน และวิ่ง เป็นต้น
4. พัฒนาการของมนุษย์ต้องอาศัยวุฒิภาวะและการเรียนรู้ (Principle of Maturation and Learning)
ฌอง เพียเจต์ (Jean Piaget) ได้กล่าวว่า เราไม่มีทางแยกวุฒิภาวะกับการเรียนรู้ออกจากันได้โดยเด็ดขาด วุฒิภาวะนั้นเป็นความพยายามขั้นต้นของสิ่งมีชีวิตในการจัดระบบเพื่อเตรียมให้ได้มาซึ่งประสบการณ์ต่าง ๆ อันยังประโยชน์ให้กับตนเอง ส่วนการเรียนรู้เป็นการเพิ่มความชำนาญให้กับประสบการณ์นั้น ๆ
5. พัฒนาการของมนุษย์แต่ละบุคคลมีอัตราแตกต่างกัน (Principle of Individual Growth Rate)
ด้วยวุฒิภาวะเป็นปัจจัยต่อการเกิดพัฒนาการของมนุษย์ดังนั้นช่วงชีวิตของแต่ละบุคคลนั้นจะมีความถึงพร้อมซึ่งวุฒิภาวะแตกต่างกัน เช่น ในเด็กหญิงจะถึงวุฒิภาวะของความเป็นสาวเร็วกว่าการถึงวุฒิภาวะความเป็นหนุ่มของเด็กชาย เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พัฒนาการของบุคคลนั้นมีอัตราที่ไม่เท่าเทียมกัน จากหลักของพัฒนาการดังกล่าวข้างต้น สามารถสรุปลักษณะเด่นของพัฒนาการได้ ดังนี้
1. พัฒนาการเป็นไปตามแบบฉบับของตัวเอง
2. พัฒนาการไม่ว่าด้านใดก็ตามจะเริ่มจากส่วนใหญ่ไปหาส่วนย่อย ๆ
3. พัฒนาการทั้งหลายเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องกันไป
4. อัตราพัฒนาการของบุคคลจะแตกต่างกันไป
5. คุณลักษณะต่าง ๆ ของพัฒนาการจะมีความสัมพันธ์กัน
6. พัฒนาการเป็นสิ่งที่สามารถทำนายได้
7. พฤติกรรมที่มองแล้วว่าเป็นปัญหา แท้จริงอาจเป็นเพียงพฤติกรรมปกติตามลักษณะของพัฒนาการ

 

website templates.