ก่อนหน้า2/4ถัดไป
บทที่10 เรื่องสุขภาพจิต

ผู้ที่มีสุขภาพจิตที่ดีมีลักษณะดังนี้
1. เกี่ยวกับตนเอง จะพึงพอใจในการกระทำที่พิจารณาว่าดีว่าถูกต้องแล้ว เข้าใจตนเองดี แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของตนเองได้ตลอดจนสามารถควบคุมอารมณ์ได้
2. เกี่ยวกับบุคคลอื่นย่อมยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่น นับถือและมีความรักผู้อื่นอย่างจริงใจ มีความไว้วางใจผู้อื่น และทำให้ประโยชน์ให้แก่หมู่คณะตลอดจนรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะ
3. เกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินชีวิต ผู้มีสุขภาพจิตดีย่อมแก้ปัญหาของตนได้ มีความมุ่งหมายในชีวิต มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน และรู้จักใช้ความสามารถของตนให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น


ตามหลักจิตวิทยาถือว่าผู้มีสุขภาพจิตดีจะมีลักษณะดังนี้
1. รู้จักเผชิญต่อความจริงของชีวิต ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ
2. เป็นผู้มีอิสระ มีเหตุผลอันถูกต้องของตนเอง
3. สามารถให้ความรักผู้อื่นโดยทั่วๆ ไป
4. รู้จักไว้วางใจอย่างมีเหตุผลต่อผู้อื่น และรับฟังข้อวิจารณ์ที่เกี่ยวกับตนเองได้
5. มีการแสดงออกทางอารมณ์พอสมควร รู้จักโกรธ เกลียด และรู้จักยับยั้งความ โกรธเกลียดด้วยเหตุผล ไม่ปล่อยอารมณ์รุนแรง
6. มีความสามารถที่จะคิดถึงอนาคต โดยรู้จักพิจารณาอย่างรอบคอบ
7. รู้จักผ่อนคลายทางใจ ปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ และพักผ่อนอย่างเพียงพอ
8. รู้จักปรับปรุงตนเองให้เข้ากับงานได้ พยายามหาทางก้าวหน้าอยู่เสมอ
9. รู้จักเอ็นดูและอดทนต่อเด็ก ไม่รำคาญเสียงหัวเราะ และร้องไห้ของเด็ก
10. รู้จักปรับปรุงตนเองเกี่ยวกับเรื่องเพศ เข้าใจและไม่มีความผิดปกติทางเพศ
11. สามารถศึกษาและสร้างอารมณ์ต่าง ๆ ให้เจริญ เข้าใจและรู้จักควบคุมอารมณ์เพื่อความเจริญแห่งตนได้
ผู้มีสุขภาพจิตดีจะต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม ผู้มีสุขภาพจิตดีจึงเป็นผู้ที่ปรับตัวได้ดี เป็นผู้รู้จักและเข้าใจผู้อื่นได้ดีและสามารถเผชิญกับปัญหา และความจริงแห่งชีวิตได้ดี
ส่วนผู้ที่มีสุขภาพจิตไม่ดีก็คือ ผู้ที่ปรับตัวได้ไม่ดี ( Mal - adjusted;person ) จะเป็นบุคคลที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับผู้ที่ปรับตัวได้ดี (Well adjusted person ) นั่นเองไม่รู้จักและไม่เข้าใจตนเอง ไม่รู้จักและไม่เข้าใจผู้อื่น ตลอดจนไม่สามารถเผชิญปัญหาและความจริงแห่งชีวิตได้ ทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข
คนปกติเมื่อตกอยู่ในภาวะหรือเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง จะทำให้เกิดความตึงเครียดเป็นเวลานานพฤติกรรมอาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น มีอารมณ์แปรปรวนมีความคิดสับสนการรับรู้ผิดไปจากปกติจนทำให้ไม่สามารถประกอบกิจกรรม เพื่อดำรงชีวิตที่ปกติได้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาจะมีความรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับสาเหตุของปัญหา และ ระยะเวลาที่ได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจ
มีปัจจัยมากมายที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต เพราะจิตใจของมนุษย์เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน เกิดความรู้สึกนึกคิดอยู่ตลอดเวลาแล้วแสดงออกมาเป็นพฤติกรรม พฤติกรรมที่แสดงออกนั้นจะแปรเปลี่ยนไปตามสิ่งเร้าที่มากระทบ ส่งผลให้มีสุขภาพจิตในรูปแบบต่าง ๆ กัน คือ อาจมีสุขภาพจิตดี สุขภาพจิตไม่ดีหรือเจ็บป่วยเป็นโรคประสาท โรคจิตหรือมีปัญหาสุขภาพ
ความผิดปกติทางจิต
โรค (Disease)
หมายถึงความผิดปกติใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับสภาพทางกายหรือสภาพทางจิต แล้วส่งผลให้เกิด ความกระทบกระเทือนต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย อันอาจจะเกิดอันตรายหรือเกิดความทุกข์ทรมาน ในการดำรงชีวิตโรคที่เกิดขึ้นกับสภาพทางจิตของคนเรามี 2 โรค คือ
ก. โรคจิต (Psychosis) เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางจิตซึ่งอาจมีสาเหตุจากทางกายหรืออารมณ์ ความผิดปกติ จะแสดงออกมาในทางความคิด ความจำ การสื่อสาร มักแสดงพฤติกรรมที่ ถดถอยไปกว่าวัยจริง โรคจิตมีหลายประเภท เช่น โรคจิตอารมณ์คลั่ง โรคจิตอารมณ์เศร้า เป็นต้น
ข. โรคประสาท (Neurosis) เป็นโรคที่มีสาเหตุจากการที่ตัวเองไม่สามารถปรับอารมณ์ได้ มีความผิดปกติของอารมณ์ น้อยกว่าโรคจิต ยังรู้ตัวเองว่าผิดปกติ เช่น โรควิตกกังวล

website templates.